ตอบทุกการค้นหา
ข้อมูลที่มีประโยชน์
เติมสุข เติมรอยยิ้ม

 


Home » , , » สถาบันวิจัยฯ สงขลา เร่งผลิตลูกปลา ‘ขี้ตัง’ หลังยอดสั่งจองพุ่งสูงจนผลิตไม่ทัน

สถาบันวิจัยฯ สงขลา เร่งผลิตลูกปลา ‘ขี้ตัง’ หลังยอดสั่งจองพุ่งสูงจนผลิตไม่ทัน

ลูกปลา ‘ขี้ตัง’


ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - สถาบันวิจัยการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งจังหวัดสงขลา เร่งผลิตลูกปลาตะกรับหรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่าปลาขี้ตัง หลังเกษตรกรสั่งจองพันธุ์ปลายอดพุ่งสูง จนผลิตไม่ทัน ขณะเดียวกันได้ปรับปรุงและพัฒนาการผลิตโดยการแปลงเพศให้เป็นปลาเพศเมียทั้งหมด เนื่องจากปลาตะกรับเพศเมียตัวใหญ่มีไข่ ราคาดี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถาบันวิจัยการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งจังหวัดสงขลา เร่งทำการเพาะพันธุ์ปลาตะกรับหรือที่รู้จักกันในชื่อปลาขี้ตังอย่างเต็มที่ หลังจากที่เกษตรกรในทะเลสาบสงขลามีความสนใจหันมาเลี้ยงปลาตะกรับหรือปลาขี้ตังมากขึ้น รวมทั้งมีการสั่งจองลูกปลาเข้ามาเป็นจำนวนมากจนทางสถาบันวิจัยการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งจังหวัดสงขลาผลิตให้ไม่ทัน


โดยทางสถาบันฯผลิตลูกปลาโดยใช้วิธีผสมเทียม นำพ่อแม่พันธุ์ปลาขี้ตัง มาทำการฉีดผสมเทียมกระตุ้นด้วยฮอร์โมน และรีดไข่ผสมเทียม เนื่องจากยังเหลือระยะเวลาในการผสมเทียมเดือนพฤษภาคมเพียงเดือนเดียวเท่านั้นก็จะพ้นช่วงที่ปลาขี้ตังวางไข่ และจะเร่งเพาะพันธุ์ปลาขี้ตังให้ได้มากที่สุดในช่วงนี้

นายยงยุทธ ปรีดาลัมพะบุตร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งจังหวัดสงขลา เปิดเผยว่า ได้พัฒนาเทคนิควิธีเพาะขยายพันธุ์ปลาตะกรับ โดยการปรับปรุงเรื่องอาหารมีชีวิต ทำให้สามารถเพาะพันธุ์ปลาตะกรับได้มากกว่าทุกๆปีที่ผ่านมา และจำหน่ายให้กับเกษตรกรจำนวน 30 ราย บริเวณโดยรอบทะเลสาบสงขลา เนื่องจากปลาตะกรับ ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคทั้งครัวเรือนและร้านอาหาร โดยเฉพาะนำไปแกงส้ม และราคาปลาตัวสูงขึ้น

นอกจากนี้ยังได้ปรับปรุงและพัฒนาการผลิตโดยการแปลงเพศให้เป็นปลาตะกรับเพศเมียทั้งหมด เนื่องจากปลาตะกรับเพศเมียตัวใหญ่กว่าเพศผู้ และมีไข่ ราคามันสูงกว่า ตอนนี้การทดลองได้ผลประมาณ 80% แล้ว โดยสามารถที่จะแปลงเพศเป็นเพศเมียในช่วงตัวเล็กๆหากประสบผลสำเร็จ 100% ก็จะนำเผยแพร่ต่อไป

เกษตรกรที่สนใจที่จะเลี้ยงปลาตะกรับเพิ่มขึ้น เพราะปลาตะกรับเป็นปลาที่มีคุณภาพสูง เลี้ยงประมาณ 6 - 7 เดือน จับขาย กก.ละ 300 บาท โดยเฉพาะตัวเมีย

เกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์น้ำชนิดอื่นแล้วไม่ประสบความสำเร็จก็อยากจะเชิญชวนให้มาเลี้ยงปลาตะกรับ เพราะปัญหาการเลี้ยงน้อย และเป็นปลากินพืชจึงมีต้นทุนการเลี้ยงน้อย


ที่มา : manager.co.th
SHARE