อุตสาหกรรมยานยนต์สัญญาณร้ายเริ่มปลดแรงงาน เน้นสัญญาจ้าง หลังยอดผลิตรถยนต์นิ่ง เหตุกำลังซื้อในประเทศฝืด ด้านผู้ผลิตชิ้นส่วนปรับตัวหันไปผลิตเครื่องมือแพทย์-เครื่องบินแทน
นายสมเกียรติ ชูพรรคเจริญ นายกสมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทย เปิดเผยว่า สมาคมได้รับรายงานว่า ขณะนี้มีบริษัทผลิตรถยนต์จำนวน 3 บริษัท ได้ทยอยลดจำนวนแรงงานในอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ลงประมาณ 600 คน โดยเฉพาะพนักงานจากบริษัทรับจัดหางานที่มีระยะเวลาสัญญา เมื่อหมดสัญญาแล้วจะไม่ต่อสัญญา เนื่องจากได้รับผลกระทบจากยอดการผลิตรถยนต์ที่อยู่ในระดับทรงตัวประมาณ 2 ปีแล้ว รวมทั้งการผลิตรถยนต์ใหม่ๆ จะใช้เทคโนโลยีเข้ามาทดแทนแรงงานคนขึ้นมาก จึงทำให้ต้องปรับลดพนักงานลง
สำหรับยอดการผลิตรถยนต์ในประเทศไทย ปีนี้ คาดว่าจะมีจำนวนรวม 2 ล้านคัน อยู่ในระดับใกล้เคียงกับปีก่อน และเป็นไปตามความต้องการในตลาดรถยนต์ และตามสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศ รวมถึงภาวะเศรษฐกิจในโลก ขณะที่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ ได้ปรับตัวเพื่อรับมือสถานการณ์ดังกล่าว ด้วยการหันไปขยายอุตสาหกรรมการผลิตทั้งอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ และอุตสาหกรรมอากาศยาน ประมาณ 20 บริษัทแล้ว
“อุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ในปีนี้ คาดว่าขยายตัวเพียง 3% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา เพราะผู้ประกอบการได้ปรับการผลิตสินค้าในอุตสาหกรรมมาอย่างต่อเนื่องเพื่อเพิ่มคุณภาพการผลิตสินค้า มีการมุ่งพัฒนาแรงงานให้มีศักยภาพการผลิตสูงขึ้น”
ด้านนายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธาน และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ยังไม่ได้รับรายงานว่า มีการลดจำนวนพนักงานในอุตสาหกรรมยานยนต์ และ ส.อ.ท.ยังตั้งเป้าหมายการผลิตรถยนต์ในปีนี้ไว้ที่ระดับ 2.15 ล้านคัน แบ่งเป็นการผลิตเพื่อการส่งออก 1.2 ล้านคัน ที่เหลือผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ และรถยนต์นำเข้า 950,000 คัน
นายสุรพงษ์กล่าวว่า ยอมรับว่ากลุ่มฯยานยนต์พยายามตั้งเป้าหมายยอดการผลิตรถยนต์ทั้งปีไว้ที่ 2.15 ล้านคัน แม้ว่ายอดขายในประเทศจะปรับลดลงก็ตาม แต่ก็ได้ยอดส่งออกเข้ามาช่วย โดยเฉพาะเดือน มี.ค.ที่ผ่านมามียอดส่งออกรถยนต์ได้ถึง 127,619 คัน ถือเป็นการส่งออกได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ตั้งแต่มีการส่งออกรถยนต์ปี 2531 เป็นต้นมา ส่วนอนาคตจะมีการปรับเป้าหมายยอดผลิตรถยนต์ในประเทศหรือไม่ ต้องขอดูตัวเลขให้ชัดภายใน 2 เดือนนี้ เพราะเอกชนยังเชื่อมั่นว่าเงินลงทุนของภาครัฐที่ลงทุนไปก่อนหน้านี้ น่าจะเห็นผลได้ชัดเจนมากขึ้นใน 6 เดือนหลังของปีนี้ เชื่อว่าจะช่วยกระตุ้นกำลังซื้อของประชาชนได้
ทั้งนี้ ในกรณีที่รัฐบาลตั้งเป้าหมายการให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้แบตเตอรี่ ถือเป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะทำให้เห็นเป้าหมายอนาคตที่ชัดเจนว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยที่มีความแข็งแกร่งอยู่แล้วจะเดินหน้าไปทิศทางใด รวมทั้งแต่ละหน่วยงานจะได้กำหนดหน้าที่ของตัวเองให้ชัดเจนว่า จะต้องดำเนินการอย่างไรบ้าง ซึ่งในส่วนของภาคเอกชนก็มีความพร้อมในการดำเนินการอยู่แล้ว คาดว่า จะเห็นรถยนต์ไฟฟ้าจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ได้ชัดเจนภายใน 3 -4 ปีข้างหน้านี้.
ที่มา : thairath.co.th