เชื่อมั้ยว่า..ระบบปฏิบัติการมือถือ หรือ OS : Operating System มีส่วนสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ที่จะเสริมประสิทธิภาพการใช้งานให้สมาร์ทโฟนของเราทำงานด้วยความรวดเร็ว ลื่นไหล ปรู๊ดปร๊าด แถมยังเป็นตัวบ่งชี้ว่าเราสามารถใช้แอพพลิเคชั่นใดได้บ้าง...แล้วจะมีระบบปฏิบัติการไหน..อะไรยังไงบ้าง...ลองมาดูกัน
ระบบปฏิบัติการ Palm OS เป็นระบบปฏิบัติการบนโทรศัพท์มือถือยุคแรกๆ เมื่อ 8-9 ปีที่ผ่านมา โดยหลักๆ จะมีคุณสมบัติเทียบเคียงกับคอมพิวเตอร์พกพา สามารถทำอะไรๆ ได้หลายๆ อย่างคล้ายกับคอมพิวเตอร์ แต่ข้อเสียก็คือนักพัฒนา (Developer) มักจะไม่ค่อยสนใจพัฒนาแอพพลิเคชั่นเสริมโดนๆ มาให้ใช้กันมากนัก Palm OS จึงไม่ค่อยได้รับความนิยมสักเท่าใดในปัจจุบัน
ระบบปฏิบัติการซิมเบี้ยน (Symbian) ระบบปฏิบัติการโทรศัพท์มือถือยุคที่สองต่อจาก Palm OS สมัยโทรศัพท์มือถือค่ายโนเกียเฟื่องฟูในบ้านเรา หลายรุ่นของโนเกีย ใช้ระบบปฏิบัติการนี้ใส่ลงไปในมือถือ ความสามารถหลักๆ ก็คือ สามารถลงแอพพลิเคชั่นเพิ่มเติมได้ รองรับการใช้งานพื้นฐานเช่น SMS MMS Calendar Task และ Note เป็นต้น ที่สำคัญถือเป็นการเปิดศักราชการใช้อินเตอร์เน็ตผ่านมือถือกันเลยทีเดียว
ระบบปฏิบัติการ Windows Mobile เมื่อตลาดสมาร์ทโฟนรุ่งเรือง ค่าย Microsoft ก็กระโดดเข้าร่วมสนามแข่งขัน คิดค้นและพัฒนาระบบปฏิบัติการ Windows Mobile ขึ้นมามีความสามารถและประสิทธิภาพการใช้งานได้ไม่แตกต่างจากระบบปฏิบัติการซิมเบี้ยน แถมยังรองรับการใช้งานร่วมกับผลิตภัณฑ์อื่นๆ ของ Microsoft ได้อย่างมีประสิทธิภาพ…แต่ไม่นานก็แป้ก เพราะนักพัฒนาไม่ให้ความสนใจพัฒนาแอพพลิเคชั่นที่รองรับระบบปฏิบัติการนี้เสียเท่าใดนัก แต่ก็เป็นอีกหนึ่งระบบปฏิบัติการที่น่าจับตามองต่อไปว่าไมโครซอฟต์จะปล่อยของอะไรดีๆ ออกมาให้เราได้ใช้งานกันอีก
ระบบปฏิบัติการ Blackberry หลายคนคงคุ้นชินและสนิทสนมกับระบบปฏิบัติการ Blackberry เป็นอย่างดี โดยระบบปฏิบัติการนี้เป็นระบบปฏิบัติการที่คิดค้นและพัฒนาขึ้นโดยบริษัท Research in Motion หรือ RIM ความสามารถหลักๆ คือรองรับการใช้งานองค์กร ในการรับส่งอีเมล์ในเชิงธุรกิจที่เน้นความปลอดภัยเป็นอย่างสูง แต่ระบบปฏิบัติการนี้จะสามารถใช้ได้เฉพาะกับเครื่องสมาร์ทโฟนค่าย Blackberry เท่านั้น แถมคุณสมบัติโดดเด่นก็เห็นจะเป็น Blackberry Messenger หรือ BBM ที่สาวดีว่าใช้แชทเม้าท์มอยกับเพื่อนสาว กุ๊กกิ๊กออดอ้อนหวานใจกันนั่นแหละ
ระบบปฏิบัติการ iOS ค่ายแอปส่ง "ไอโฟน” รุ่นแรกออกวางจำหน่ายเมื่อ 5-6 ปีที่แล้ว ระบบปฏิบัติการ iOS ก็เริ่มเป็นที่รู้จัก และเป็นที่นิยมอย่างล้นหลาม ปัจจุบันมีผู้ใช้ระบบปฏิบัติการ iOS กว่า 50 ล้านคนทั่วโลก โดยคุณสมบัติโดดเด่น หลักที่เห็นได้ง่ายก็คือ เป็นระบบปฏิบัติการแบบ Single OS ที่ไม่ว่าจะเป็นไอโฟน ไอพอดทัช ไอแพด รุ่นไหนๆ ก็สามารถอัพเกรดระบบปฏิบัติการมาใช้ได้เหมือนกันหมด แถมโดดเด่นด้วยแอพพลิเคชั่นเสริมมากมายมีให้เลือกดาวน์โหลดกันเป็นแสนเป็นล้านแอพฯ ครบครันทุกความต้องการการใช้งาน แต่ก็มีข้อเสียตรงที่ระบบปฏิบัติการนี้ไม่สามารถที่จะเสริมเติมแต่งอะไรเข้าไปเพิ่มเติมนอกเหนือจากที่แอปเปิ้ลเค้าจัดสรรมาให้เท่านั้น
ระบบปฏิบัติการ Android สุดท้ายระบบปฏิบัติการน้องใหม่มาแรงประกบคู่ท้าชิงตำแหน่งราชินีกับ iOS อย่างสูสีอย่างระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์จากค่าย Google ที่เปิดให้เป็นฟรีแวร์ จึงทำให้ค่ายผู้ผลิตมือถือต่างๆ สนใจนำระบบปฏิบัติการนี้ไปใส่ลงใน มือถือของตนเสียมากมายตั้งแต่ค่ายยักษ์ใหญ่ อย่าง Samsung, LG, HTC, Sony Ericsson, Motorola หรือแม้กระทั่งแบรนด์ไทยๆ อย่าง i-Mobile ค่ายบ้านเรา โดยคุณสมบัติหลักที่โดดเด่นก็เห็นจะด้วยความที่เป็นฟรีแวร์จึงทำให้ราคาค่างวดของโทรศัพท์มือถือแอนดรอยด์มีราคาไม่สูงมากนัก แถมได้สเปคการใช้งานที่ครบครัน และผู้ใช้สามารถเสริม เพิ่ม แต่ง ดัดแปลง รูปแบบการใช้งานได้ตามสไตล์ เช่น จะเปลี่ยน font เปลี่ยนรูปแบบหน้าจอ เปลี่ยนโน่น นี่ นั่น ได้หมด มีความเป็น Customized มากมาย เหมาะแก่ไลฟ์สไตล์ที่แตกต่างเสียจริงๆ แต่ข้อเสียก็มีอยู่บ้างตรงที่ แอนดรอยด์มิได้เป็น Single OS อย่างไอโฟน ที่ออกเวอร์ชั่นใหม่ก็มีเวอร์ชั่นเดียวกันทั่วโลก แต่แอนดรอยด์ก็มีเวอร์ชั่นเต็มไปหมดในท้องตลาด ไมว่าจะ 2.3, 2.4, 3.0, 4.0 บางครั้งบางคราวทำให้สาวดีว่าอย่างเรางวยงงสงสัยได้บ้าง
ที่มา : www.prd.go.th